วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

เปลือกราชการ

นับตั้งแต่มนุษย์รวมกลุ่มเครือญาติเข้าเป็นสังคม มนุษย์เริ่มต้นจัดระเบียบสังคมเพื่อความสงบสุข และความเรียบร้อยของสังคม ซึ่งปราชญ์เมธีชาวกรีก อริสโตเติลได้กล่าวไว้ 2,000 กว่าปีแล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ซึ่งอาจเป็นเพราะความเปราะบางของสภาพกายภาพร่างกายมนุษย์ ที่ไม่ผิวหนัง และขนหนาป้องกันอากาศหนาว ไม่มีเขี้ยวเล็บแหลมไว้จับเหยื่อ ไม่มีปีกและมีครีบ ไว้หนีศัตรู มนุษย์จึงรวมกลุ่มเข้าเป็นสังคม เพื่อความรู้สึกปลอดภัย ที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดและการดำรงเผ่าพันธุ์ ให้คงอยู่ภายใต้สภาพความเป็นไปที่โหดร้าย
                อย่างไรก็ตามธรรมชาติมักมีความสมดุล หรือเมื่อไม่สมบูรณ์ย่อมสมดุล ดังนั้นเมื่อมนุษย์อ่อนแอด้านร่างกาย แต่ระดับสติปัญญาของมนุษย์กลับมีพัฒนาการที่สูง มีพลังการสร้างสรรค์เพื่อคุ้มครองตนเองและสังคมให้อยู่รอด พร้อมกับสะสม บ่มเพาะเป็นอารยธรรมตามความเชื่อ ประเพณีและสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ นับตั้งแต่อารยธรรมยุคโบราณ ที่เริ่มปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้าง ร่องรอยอารยธรรม และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นอารยธรรมอียิปต์ อายธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมจีน รวมถึงอารยธรรมอินเดียน็ฯ็็ ซึ่งล้วนมีพัฒนาการความมีอารยะ ของมนุษย์ทั้งเรื่องศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม อาหาร รวมถึงระบบการปกครอง สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ที่มนุษย์ในสังคมนั้นๆจะพึงปฏิบัติได้
                ทั้งนี้เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ปัญหาและวิธีการจัดการก็เริ่มซับซ้อนขึ้นตามลำดับ แม้ความใกล้ชิดระหว่างกลุ่มเครือญาติ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในยุคแรกๆของสังคมมนุษย์ก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเอง สังคมมนุษย์เริ่มขยายตัว กลายเป็นสังคมที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เช่น คุ้ม ชุมชน นิคม หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ และรัฐ พร้อมกับความก้าวหน้าในระบบความคิด และความเป็นรูปแบบที่รัดกุมมากขึ้น พร้อมๆกับการแทรกซึมไปทั่วทุกส่วนในสังคมของการปกครองที่เรียกกว่า  ระบบราชการ
                แม้ระบบราชการ มีกำเนิดและพัฒนาการอย่างคู่ขนานกับสังคมมนุษย์ บางเหตุการณ์ระบบราชการคือเครื่องมือเพื่อความสงบสุขของผู้ปกครอง แต่บางครั้งระบบราชการก็สร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชน แต่ลดเรื่องสิทธิ เสรีภาพของมนุษย์ หรือแม้ระบบราชการในยุคแรกๆจะจำกัดอยู่เฉพาะตัวรัฐและความเชื่อศาสนา โดยมีพิธีกรรมค่อนข้างสูง แต่หลักการและความเป็นไปดังกล่าวก็ฉายภาพของเหตุการณ์ และความสำคัญของระบบราชการต่อสังคมมนุษย์ ที่แม้จะปราถนาหรือไม่ก็ตาม ระบบราชการก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อมนุษย์มารวมกลุ่มกัน
                ทั้งนี้บางสังคมมีความเชื่อมั่นต่อระบบราชการและเกิดผลที่ดีต่อทุกภาคส่วน แต่บางสังคมรูปแบบระบบราชการดังกล่าวกลับไม่ประสบผลสำเร็จ  และกลายเป็นโจทย์ที่ยากต่อการยอมรับได้ยิ่งกว่าความล้มเหลว ที่สำคัญแม้การพยายามหาคำตอบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีสาเหตุจากอะไร เกิดจากตัวมนุษย์ หรือเกิดจากเครื่องมือ หรือเกิดจากอารยธรรม ความเชื่อ ประเพณีและสภาพแวดล้อมในแต่ละสังคมที่ต่างกันไป แต่มนุษย์บางกลุ่มก็ยังพยายามยัดเยียดระบบราชการที่เป็นแบบเดียวกันให้กับสังคมทั้งโลก หรือบางครั้งที่ระบบราชการ บางหน่วยต้องการรักษาอำนาจของตนให้คงไว้ แต่กลับไม่ตระหนักถึงเงื่อนไขเวลา และเงื่อนไขพัฒนาการที่ตนต้องออกไปได้แล้ว
                ซึ่งหากพิจารณาลักษณะของระบบราชการตามแนวคิดของ เวเบอร์ ( Weber ) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน โดยมองว่าระบบราชการ เป็นองค์การที่มีลำดับชั้นของสายการบังคับบัญชา ที่ชัดเจน มีการแบ่งงานกันทำ ตามความชำนาญเฉพาะและระบุความรับผิดชอบที่ชัดเจน หลักการทำงานใช้กฎระเบียบแบบแผนเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการตัดสินใจและการปฏิบัติงานในแบบอย่างเดียวกัน การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานและการเลื่อนตำแหน่งอยู่บนพื้นฐานของหลักความสามารถ  ผู้ปฏิบัติงานในระบบราชการได้รับการฝึกอบรมอย่างรอบด้านและมีความรู้ ความสามารถในการบริหารงาน รูปแบบความสัมพันธ์ในการปฏิบัติงานอยู่ในรูปแบบเป็นทางการ นำความเป็นเหตุเป็นผลมาใช้แทนเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัว  สุดท้ายแบ่งแยกเรื่องส่วนตัวและเรื่องขององค์การออกจากกันอย่างชัดเจน สิ่งต่างๆข้างต้นระบบราชการ ต้องพึงตระหนักไว้ให้ดี
                อย่างไรก็ตามด้วยความแตกต่างของสังคมมนุษย์ หากมาย้อนกลับที่สังคมไทย ซึ่งมีพื้นฐาน ทั้งด้านความเชื่อ ระบบเศรษฐกิจ หรือเรียกว่าสภาพความเป็นมาไม่เหมือนต้นแบบราชการซึ่งมาจากสังคมตะวันตก เพราะไทยมีพัฒนาการของระบบราชการ ซึ่งหากเริ่มนับ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่ มีระบบราชการ เป็นเงาของการปกครองแบบพ่อปกครองลูก คือผู้ปกครองเป็นเสมือน พ่อ หรือเป็นผู้ปัดเป่าทุกข์ให้แก่ ไพร่ฟ้า แน่นอนว่าเมื่อพ่อเป็นที่พึ่งของลูก ชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ รวมถึงความเชื่อและสถาบันทางศาสนา แม้ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย แต่ระบบเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และระบบราชการย่อมผูกติดกับ   พ่อขุน  และปัจจุบันสังคมไทยกำลังเดินตามแนวนี้ เพราะราชการบางหน่วยกำลังทำตนเป็น พ่อขุน
                สำหรับสมัยอยุธยา สมบูรณาญาสิทธิราชเป็นรูปแบบของระบบราชการที่มีความเข้มงวดมาก เพราะผู้ปกครองสูงสุดเป็น สมมุติเทพ อำนาจความเด็ดขาด ศูนย์กลางแห่งอำนาจล้วนอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ความเข้มของแสงแห่งอำนาจก็ลดลง ตามระยะทางที่ห่างจากเมืองหลวง และแน่นอนที่ความเป็นพลเมืองก็มีอยู่น้อยมาก  การคานอำนาจระหว่างผู้ปกครองกับไพร่ฟ้าไม่มีในรูปแบบที่เป็นทางการ  จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบราชการครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เริ่มจัดตั้งกระทรวงเพื่อภารกิจเฉพาะด้าน  เริ่มรับประชาชนทั่วไปเป็นข้าราชการ
                กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน พุทธศักราช 2475 รูปแบบราชการ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ระบบราชการเริ่มผูกติดกับประชาชนในแง่ของตัวอักษร  เพราะในความหมายแห่งนิยามตามตัวอักษร อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจบริหารเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติระบบราชการซึ่งเป็นที่หวังที่พึ่งตามครรลอง กลับสร้างความเข้มเข็งให้กับตัวเอง แม้จะสามารถสนองตอบกับความต้องการตั้งแต่เริ่มแรกของมนุษย์ ที่ต้องการความความรู้สึกปลอดภัย  ความอยู่รอดและการดำรงเผ่าพันธุ์ ให้คงอยู่ภายใต้สภาพความเป็นไปที่โหดร้าย แต่คำพูด พรรคราชการ บุคคลในเครื่องแบบ สีเขียว สีกากี เจ้าขุนมูลนาย เจ้าคนนายคน ล้วนสะท้อนแนวคิดที่บิดเบือนได้เป็นอย่างดี
                แม้ปัจจุบันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การปฏิรูประบบราชการ และปฏิรูป อื่นๆ โดยอาจมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบราชการ หรือพูดอีกความหมายหนึ่งคือระบบงานบริหารประเทศอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่บทบาทหน้าที่ของรัฐ  โครงสร้างระบบบริหาร ตลอดจนวัฒนธรรมและค่านิยม  เพื่อให้ระบบราชการมีสมรรถนะสูงในการเป็นกลไกให้ประเทศไทยมีสังคมที่มีคุณภาพ และคุณธรรม สามารถแข่งขันได้ดีในเวทีโลก ( ในความเข้าใจของผู้บริหาร )
                รวมถึง ยกระดับขีดความสามารถและสร้างประสิทธิภาพโดยรวมของหน่วยงานราชการสร้างและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและสังคมต่อระบบราชการสร้างระบบราชการให้ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชน  มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมสนับสนุนภาคประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนให้เติบโต มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ
                ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นคือ การฉายภาพการทำงานของระบบราชการไทยที่ผ่านมา และได้ฝังรากลึกมาช้านาน ทั้งในส่วนรูปแบบ โครงสร้าง วัฒนธรรม ค่านิยม  แล้วทำไมถึงต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและสังคมต่อระบบราชการ โดยสร้างระบบราชการให้ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชน
                อย่างไรก็ดีระบบราชการไทยก็ย่อมมีกำเนิดและพัฒนาการคู่ขนานกับสังคมไทย ดังนั้นการชี้ว่าดีหรือไม่ดีสำหรับระบบราชการในอดีต  หรือการสร้างระบบราชการเพื่อตอบสนองประชาชน สำหรับระบบราชการในอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญ อยู่ที่การกำกับแนวทางของพัฒนาการระบบราชการไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยประชาชน ซึ่งก็คือมนุษย์ในความหมายที่แท้จริง ตั้งแต่สังคมสมัยเริ่มแรก ไม่ใช่การสร้างระบบราชการโดยมนุษย์ราชการ หรือโดยราชการบางเหล่า
                อะไรคือบ่อเกิดแห่งความคิดเช่นนี้ อาจเพราะกลไกที่ยิ่งบิดเบี้ยวในระบบราชการปัจจุบัน วิกฤตความไม่สงบของบ้านเมือง วิกฤตการศึกษา ยังไม่นับวิกฤตความไม่มั่นคงของนานาชาติ ที่เกิดจากความพยายามจำลองรูปแบบระบบราชการ และระบบการปกครองให้เหมือนกันทั้งโลก วันนี้คงต้องยอมรับความงดงามของความหลากหลาย เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและความสมดุลของการถ่วงดุลของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ความสมดุลของการถ่วงดุลของมนุษย์บางเหล่าอีกต่อไป......เชื่อเถอะครับ
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น